รับมือยังไง ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัวชอบเอาเปรียบ

แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบหรอกค่ะคนที่เห็นแก่ตัว และชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ตามสไตล์ว่า พูดไว้ก่อน เสนอไว้ก่อน และโยนให้คนอื่นทำ หรือจะเป็นคาแรคเตอร์ไม่ได้ทำอะไรก็แย่งงานคนอื่นไปนำเสนอ รวมทั้งคนที่เอาเปรียบด้วยการอู้งานเป็นประจำและออกแนวช่างติชอบโทษคนอื่นตลอดเวลา แต่ถ้าเราจำเป็นต้องเจอกับคนที่เป็นแบบนั้นในที่ทำงาน ควรจะต้องทำไงดีละ ?

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?
Photo by Sunny Ng on Unsplash

งานนี้ย้ำก่อนเลยนะคะ ผู้เขียนไม่ได้เขียนแบบมโนขึ้นมาเองและไม่ได้เขียนจากชีวิตส่วนตัวนะคะ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด แต่ได้เลือกรวบรวมจากเทรนด์บน Google ชาวเน็ตนิยมค้นหาวิธีการจัดการเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัว เพื่อช่วยให้คุณ “Move on” ตามสโลแกนของเว็บไซต์เรา จึงเลือกสรุปความเห็นจากหลาย ๆ เว็บไซต์ชื่อดังมาเล่าให้ฟัง และเสนอเป็นทางออกสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่พบเจอกับคนเห็นแก่ตัว บางครั้งก็กลัวใจว่าจะ ทนไหวแค่ไหน ไม่อยากลาออก เพราะยังคงรักงานที่ทำอยู่ เพราะคงไม่แฟร์แน่ ๆ หากเหตุผลการลาออกของเรานั้น เป็นเพราะเบื่อจะทนคนเห็นแก่ตัวที่เอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?
Photo by Sharon Garcia on Unsplash

เจอแบบนี้ ? จะเอาตัวรอดจากเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัวยังไงดีหนอ ?

ถ้าเลือกอยู่ต่อและต้องเจอกับคนเห็นแก่ตัวเสมอ สไตล์ที่ว่า “ความผิดของตัวเองเล็กจิ๋วเท่าเส้นผม แต่ความผิดคนอื่นใหญ่เท่าภูเขา หรือแทบจะเท่าก็อตซิล่าอยู่แล้ว” เราอาจจะต้องจมกับภาวะไม่โอเค ต้องตั้งรับตลอดเวลา พร้อมกับเจอมลพิษแย่ ๆ ทางอารมณ์แบบนี้ต้องทำไงดี ?

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?
Photo by Anthony Tran on Unsplash

หากรู้สึกแย่ให้ใส่เกียร์ถอยหลังออกมาตั้งหลักก่อนค่ะ

เป็นธรรมดาและสัจธรรมของโลกอยู่แล้วที่เราต้องพบเจอกับคนร้อยพ่อพันแม่ที่มีนิสัยหลากหลาย เราไม่สามารถกะเกณฑ์กำหนดชีวิตของพวกเขาได้หรอกค่ะ แต่เราสามารถเลือกจะหลีกหนีได้

เอาเป็นว่า หากคุณโมโห เกิดอารมณ์พลุ่งพล่านหายใจเข้าลึก ๆ อย่าใกล้กับโซเชียล อย่าเพิ่งโพสต์อะไรด่าทอคนแบบนั้น เพราะเขาอาจจะนำข้อมูลบนโซเชียลของเรากลับมาเล่นงานเราได้เสมอ

อย่างไรก็ดี จำไว้ว่า หากเรื่องราวที่เขาเห็นแก่ตัวนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ก็จงบอกใจตัวเองว่า “ช่างเขาเถิดปล่อยเขาไป เขาเป็นใครก็ให้เขาเป็นไป” และหาทางหลีกหนีจากคนเห็นแก่ตัวให้ได้ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องอยู่ใกล้ สนทนาแต่พอจำเป็นเน้นเรื่องงาน เมื่อถึงเวลาพวกเขาก็จะได้รับกรรมที่ก่อเอาไว้เองค่ะ ควรใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?
Photo by Isabell Winter on Unsplash

 

ลองแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน

หลังจากเคลียร์จบ ! ถ้าเจอเพื่อนร่วมงานจอมฮุบ งานนั้นก็ผมทำ งานนี้ผมก็ดีไซน์ งานนี้ผมก็คิด แต่เจ้าตัวไม่เคยทำอะไรเลย ควรจะพูดคุยแบ่งหน้าที่การงานให้ชัดเจนว่า จากนี้ควรแบ่งงานว่าจะต้องทำอะไร รับผิดชอบส่วนไหนบนเป้าหมายให้งานสำเร็จลุล่วง และต้องทำงานส่วนของเราให้ดีที่สุด อย่าก้าวก่ายกันเด็ดขาด แนะนำให้คุณแบ่งงานให้ชัด พิสูจน์ว่าเราทำได้ และเต็มที่กับงาน ดั่งคำกล่าวว่า “ใครทำคนนั้นได้” รับรองว่าสบายใจขึ้นเยอะ มีความสุขขึ้นแยะ

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?
Photo by You X Ventures on Unsplash

หากเจอคนเอาเปรียบใส่ร้ายเราอธิบายความจริงให้ทุกคนรับรู้

ต้องย้ำก่อนว่า ถ้าเราทำผิดจริงก็ต้องยอมรับผิด อย่าโทษคนอื่นและเลือกปรับตัว แต่ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกลับเจอคนเห็นแก่ตัวโยนโทษมาให้ เจอคนไม่ทำงานแต่ไล่โทษชาวบ้านแบบนี้ บางครั้งไม่เกี่ยวอะไรกับหน้าที่ของตัวเองด้วยแต่กลับมาด่าทอเรา เอาละสิ ? งานนี้เจอคนเอาเปรียบใส่ร้าย เราต้องรับมืออย่างไร ?

  • ต้องพูดความจริง

เพราะความจริงไม่มีวันตาย อยู่ที่จะรู้ความจริงเมื่อไหร่เท่านั้น ไม่ต้องเป็นนางเอกค่ะ ถ้าไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องรับความผิดเอาไว้เองค่ะ บอกคนอื่นให้รู้ความจริงเลยว่า อะไรเป็นอะไร ?

หากหนักหน่วงเกินไป ควรขอความช่วยเหลือ
จากฝ่ายบุคคล (HR) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นต่อไป

แนะนำว่า อย่าใช้อารมณ์ให้พูดกันด้วยเหตุผล เตรียมหลักฐานไว้ด้วย จะดีมาก เน้นอธิบายความถูกต้องเป็นหลัก เชื่อว่า ฝ่ายบุคคล (HR) เจ้านายที่ดีและหัวหน้าที่ดีจะเข้าใจค่ะ

อย่าลืมว่าเราเปลี่ยนใครไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนตัวเอง สำหรับชาวพุทธที่เจอเหตุการณ์ใส่ร้าย เราควรมีอุเบกขาไว้ก่อน “วางเฉย ทำใจเป็นกลาง หนักแน่นไว้ก่อน” จะช่วยให้เรามีสติแก้ไขสถานการณ์ได้ หากเราไม่ได้ทำผิด ไม่ต้องกลัวค่ะ

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?
Photo by Eliott Reyna on Unsplash

ไม่ชอบแบบไหนอย่าทำแบบนั้น

ขออนุญาตหยิบยกบทความพนักงานเทนเซ็นต์ แนะเคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน 7 ข้อ ระบุว่า “การเอานิสัยเสียของคนอื่นมาใส่ไว้ในใจตัวเองเป็นเรื่องที่แก้ยาก และเอาเข้าจริงก็คือ แก้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ทางที่ดีควรนำคติในการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นอย่างฮันเมนเคียวฉิ (反面教師) มาปรับใช้จะดีที่สุด”

  • ฮันเมน แปลว่า ด้านตรงข้าม
  • เคียวฉิ แปลว่า ครู

รวมแล้วคำนี้แปลตรงตัวว่า “ครูด้านตรงข้าม” นั่นก็คือ การนำแบบอย่างของนิสัยที่ไม่ดีในคนอื่นมาเป็นครูของเรา เพื่อให้เราไม่ทำพฤติกรรมแบบนั้นนั่นเอง

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?
Photo by Raghav Modi on Unsplash

เนื้อหาบทความฮันเมนเคียวฉิ (反面教師) อธิบายเพิ่มว่า

  • ถ้าเพื่อนร่วมงานคนนั้นขี้เกียจ เราก็ต้องขยัน
  • ถ้าเพื่อนร่วมงานคนนั้นเขามาสาย เราต้องมาทำงานแต่เช้า
  • ถ้าเพื่อนร่วมงานอู้งาน เราก็ต้องทำงานให้เต็มที่ (ประมาณนี้)

ถ้าเราไม่ชอบอะไรในแบบที่เขาเป็น เราก็ต้องไม่เป็นคนแบบนั้น ง่ายๆ เพียงแค่นี้ก็ลดปริมาณคนนิสัยไม่ดีในออฟฟิศไปได้อีกหนึ่งคน”

“Let’s move on. เพราะชีวิตต้องไปต่อ”ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้คุณหลีกหนีคนกลุ่มนี้ให้ไกล อย่าเสียเวลากับพวกเขาเลยค่ะ จะดีที่สุด 🙂 และอย่าลืมกล่าวขอบคุณคนเห็นแก่ตัว คนที่เอารัดเอาเปรียบเหล่านั้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิต และเรียนรู้ว่าไม่ควรที่จะทำนิสัยแบบไหนด้วยนะคะ

เมื่อรู้วิธีรับมือคนเห็นแก่ตัว ก็จงอย่าให้เกิดสถานการณ์ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองเด็ดขาดนะ

แหล่งข้อมูล