Site icon moveonblog.com

Q&A รู้จักตัวตนเพจ “ช่างเล่า”

รู้จักเพจช่างเล่า

เชื่อว่า “แรงบันดาลใจ” เป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต…

“ถ้าคุณชอบถ่ายภาพเราคือเพื่อนกัน” Exclusive Interview เรื่องราวนี้เป็นบทความปฐมฤกษ์ของคอลัมน์ Society ของ moveonblog.com เลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะเราจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ ช่างเล่า เพจที่ช่างเล่าสมชื่อ!! เลื่องลือในการแชร์ภาพสวย ๆ ให้ชาวเพจได้ชื่นชมมาตั้งแต่ปี 2017

ก่อนจะรู้จักเพจช่างเล่าให้มากยิ่งขึ้น … ก็คงต้องแนะนำคอนเทนต์ภาพสวย ๆ ผลงานจากเพจช่างเล่าที่สร้างความยั่วยุในจิตใจนำพาให้เราอยากจะวางมือถือ แพ็คกระเป๋าออกเดินทางไปดูทุ่งดอกเก๊กฮวยที่เชียงใหม่ตอนนี้ !!

พบกับสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟ 9 คำถาม Q & Aที่จะทำให้เรารู้จักเพจช่างเล่ามากยิ่งขึ้น… ปล.ภาพที่คุณเห็นประกอบบทความทั้งหมดนี้ เป็นภาพที่เราได้รับมาจากเพจช่างเล่า

Q: เพจช่างเล่าเป็นใครมาจากไหน เล่าให้ฟังหน่อยจ้า ?

A: แนะนำตัวนะคะ จิ๊บ ภัทรณี วรรณสาคร รับราชการทหาร เริ่มต้นการถ่ายภาพครั้งแรกเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว เริ่มจากการชอบดูภาพสวย ๆ ใน กลุ่ม Vsco Cam Thailand เมื่อก่อนจะมีรูปถ่ายสวย ๆ ในกลุ่มเยอะมาก ส่วนตัวจึงคิดว่า “เอ๊ะ ทำไงถึงจะมีภาพสวย ๆ แบบนี้บ้าง”

จึงตัดสินใจซื้อกล้องตัวแรกในชีวิตมาค่ะ และเริ่มต้นจริงจังในการถ่ายรูป หัดเรียนรู้การตั้งค่ากล้อง แล้วก็คิดว่า “เอ๊ะ!! ทำไงจะถ่ายมาข้างหบังเบลอ ๆ โบเก้เยอะ ๆ” ?

ตอนนั้นคิดเท่านี้จริง ๆ อยากมีรูปดอกไม้สวย ๆ เพื่อใช้ลงอินสตาแกรม ลงเฟซบุ๊กดูบ้าง ก็เลยเริ่มต้นฝึกถ่ายรูปมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ตอนนั้น

“ยิ่งถ่าย (ภาพ) ก็ยิ่งมีความสุข” รู้สึก “เอ๊ะ ทำไมเวลาเครียด ๆ จับกล้องแล้วทำให้เราสบายใจ” จากที่เป็นคนใจร้อน แบบร้อนมาก แต่พอได้ถ่ายรูป เหมือนหลุดไปอยู่ในโลกส่วนตัวของเราเอง


Q : ทำไมต้องเป็นเพจช่างเล่า และจุดเด่นที่น่าสนใจของเราคืออะไรคะ ?

A ต้องเล่าว่าหลัง ๆ พอถ่ายรูปบ่อย ๆ ก็มีเพื่อน ๆ ในเพจแนะนำให้เปิดเพจเฟซบุ๊กของตัวเอง ตอนแรกก็คิดนะ แล้วจะมีใครมาติดตามเราไหม แต่ตอนนั้นคิดในใจว่า “ไม่เป็นไร ทำเพจเอาไว้เป็นแกลอรี่ส่วนตัว”

เลยเริ่มคิด เอาว่ะ!! เปิดก็เปิด เลยเริ่มคิดชื่อ แว่บแรก “ช่างเล่า” อ่ะ เอาชื่อนี้ล่ะกัน งงใช่ไม๊ว่าช่างเล่า มาจากอะไร ช่างเล่า มาจาก การที่เราเป็นคนชอบเล่า ชอบเขียนบรรยาย ต่าง ๆ เวลาลงภาพ และสำคัญที่สุด เราชอบให้ภาพมันเล่าเรื่องราวไปด้วย เลยลงตัวที่ชื่อนี้ทันที

จุดเด่นของเพจอันนี้ไม่รู้ว่าเป็นจุดเด่นไหม แต่ที่มีหลาย ๆ คนชอบบอกว่า เพจช่างเล่า จะมีเรื่องราวอยู่ในภาพ ซึ่งมันตรงกับที่เราตั้งใจจะสื่อออกไปก็เลยคิดว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นจุดเด่น และที่สำคัญ คนที่ติดตามเพจจะเห็นว่า ช่างเล่าจะมีภาพมุมกว้างน้อยมาก เพราะเราเป็นคนชอบถ่ายภาพมุมเล็ก ๆ แล้วมาปะติดปะต่อกันให้เป็นเรื่องราวในแต่ละคอนเทนต์ซึ่งเราอยากโฟกัสว่า มุมเล็กๆ ที่คนไม่ได้ให้ความสนใจ แต่สิ่งเหล่านี้คือมันเป็นองค์ประกอบของภาพกว้าง ๆ นะ อะไรแบบนี้

จุดประสงค์หลักของเพจคือ อยากบอกเล่าเรื่องราวสิ่งเล็กๆ ต่างๆ ให้คนได้เข้ามาดู เราจะไม่เรียกว่าการรีวิวนะ ช่างเล่าจะไม่รีวิว แต่ช่างเล่าจะทำเป็นการบอกเล่าเรื่องราวในมุมต่างๆ ที่คนมองข้ามไป อย่างเช่น เวลาขึ้นดอยไปถ่ายสวนกาแฟงี้ เวลาคนที่ขึ้นไปก็จะถ่ายเป็นมุมกว้างๆ รีวิวให้เห็นว่า นี่เป็นสวนกาแฟนะ กว้างเท่านี้ การเดินทางไปยังไง แต่ช่างเล่า จะโฟกัสไปที่ต้นและผลกาแฟ แล้วจะเล่าไปว่า ในสวนกาแฟมีเมล็ดกาแฟที่มันกำลังเจริญเติบโตนะ ได้น้ำ ได้ฝน ได้ไอหมอก ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะเติบโต รอเวลาเก็บผลผลิต

เนี่ยแหละแบบนี้คือแบบฉบับของช่างเล่าที่ไม่ใช่การรีวิว แต่มันคือการบอกเล่าเรื่องราวเน๊อะ ?


Q: อยากให้นิยามเพจช่างเล่าใน 3 พยางค์

A: นิยามของเพจ อืมม …..ถ่ายเพื่อเล่า [การถ่ายรูปเพื่อเล่าเรื่องราว]


Q: เปรียบการถ่ายภาพเป็นอะไร ?

A: เราเปรียบการถ่ายภาพของเราเป็นความสุขละกัน เพราะทุกครั้งที่ได้หยิบกล้องได้กดชัตเตอร์ คือเหมือนอารมณ์เดินไปหาความสุข อยู่ในโลกของตัวเอง เหมือนเราได้อยู่กับความสุข ยิ่งภาพไหน คอนเท้นต์ไหนที่คนชอบ หรือชม แค่เพียงคนเดียว พี่จะถือว่าภาพนั้นเป็นกำไรชีวิตเลยจริง ๆ


Q : ก่อนที่จะถ่ายภาพ หรือลั่นชัตเตอร์ เพจช่างเล่ามีไอเดียอย่างไรบ้าง หรือต้องทำการบ้านก่อนไหม ? 

A: ก่อนที่จะกดชัตเตอร์ในแต่ละครั้ง พี่จะทำการบ้านเยอะมาก พี่จะคิดว่าทำยังไงให้เป็นการเล่าเรื่องในแบบเรา ใส่ไอเดียลงไป หลัก ๆ คือการจัดพร๊อพตกแต่งต่าง ๆ ในแต่ละทริป ให้เข้ากับสถานที่ และเป็นตัวเราให้มากที่สุด แต่จะพยายามหาสิ่งของต่างๆ มาเล่าเรื่องราวให้กับสถานที่นั้น ๆ ให้มันมีเรื่องราวเป็นช็อต ๆ ไป


Q : ภาพเซทไหนที่ชอบที่สุด อยากให้เล่าถึงที่มาว่า เราชอบเพราะอะไร ?

A: ภาพที่ชอบที่สุด อันนี้เลือกแทบไม่ได้เลย แต่ถ้าให้เลือกจริง ๆ พี่ชอบภาพ เมล็ดกาแฟถูกประดับด้วยหยดฝนกับทริปสวนยาหลวง คือในภาพนั้น คนอาจจะมองว่าเป็นภาพที่โคตรธรรมดา แต่คือในภาพนั้นอ่ะ กว่าเราจะพาตัวเองขึ้นไปบนนั้น มันยากสำหรับพี่มากๆ เลยนะ กับชีวิตที่ไม่เคยขึ้นดอย หน้าฝน ทางเละๆ กว่าจะถึงบนดอยไส้นี่แทบมากองรวมกัน แล้วแบบอารมณ์ขึ้นไป เจอฝนที่เราชอบ เจอหยดน้ำค้าง ความเขียวชอุ่ม เจอเมล็ดกาแฟที่เขียวชุ่มชื่น คือมันคือ The Best ในใจพี่ ป่า เขา ฝน ความเขียว คือความสุขของเรา เพราะพี่ชอบภูเขา ชอบป่า ชอบความชุ่มชื้น

ภาพนี้เป็นภาพที่พี่จิ๊บชอบที่สุด

Q : เคล็ดลับการถ่ายภาพของเพจช่างเล่าคืออะไรคะ ?

เคล็ดลับ หรอ อันนี้ส่วนตัวพี่นะ อย่างพี่จะถ่ายดอกไม้ดอกนึงเนี่ย พี่จะดูก่อนว่าดอกนี้มีส่วนไหนเด่น หรือมีอะไรที่มันเล่าเรื่องราวได้ไหม อย่างเช่น ถ่ายดอกไม้ช่วงที่ฝนตก พี่ก็จะโฟกัสตรงที่ฝนหยดลงที่กลีบดอกไม้ ก็เหมือนการเล่าว่า ดอกไม้ดอกนี้ได้น้ำฝนมาเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดอกไม้นะ อะไรแบบนี้ พี่คิดว่ามันคือเรื่องราวของภาพ


Q :  ตอนที่ทำเพจอยู่เคยเจอเรื่องที่ยากที่สุดไหมคะ ? เราผ่านมาได้ยังไง 

A: ทำเพจอยู่ อะไรที่ยากที่สุด สำหรับพี่คือ ใจตัวเอง ช่วงหนึ่งที่ทำเพจพี่เคยเริ่มถอดใจ ไม่อยากทำต่อ เพราะทำไมมันไม่ก้าวหน้า เหมือนย่ำอยู่กับที่ รู้สึกถ่ายภาพดรอปลง ฝีมือไม่พัฒนา อยากจะหยุดทำเลยนะ คืออยากหยุดแล้วไปพัฒนาตัวเอง จนพี่ก็มาคิดว่า เอ๊ะ เราลืมไปหรือเปล่าว่า จริง ๆ เราทำเพราะอะไร เราทำเพราะความชอบนี่หน่า เลยเอาว่ะ ทำต่อไปเรื่อย ๆ เหมือนเดิม ทำแล้วไม่มีคนชอบ ไม่มีคนไลค์ก้อช่างมัน ไลค์คนเดียว แชร์คนเดียวก็ถือว่ากำไรชีวิตล่ะ ลุยต่อสิ !!


Q : อยากให้แนะนำ คนที่มีฝันอยากเริ่มต้นถ่ายภาพแต่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ 

A: สำหรับคนที่เริ่มสนใจถ่ายภาพ และเริ่มทำตามฝันของตัวเอง พี่อยากให้คิดว่า ทำเถอะ ทำไปตามใจเรา ให้ภาพมันเก็บสตอรี่ เก็บความทรงจำของเรา อย่าท้อที่ถ่ายภาพมาไม่สวย ไม่ถูกใจ พี่ใช้เวลากับสิ่งนี้มา 3 ปี กว่าจะถ่ายได้แบบนี้ ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อย ๆ ศึกษา ดูภาพ ดูเทคนิคต่าง ๆ จากในไอจี ใน Pinterest เป็นแนวทาง แต่ห้ามลอกเลียนแบบนะ ดูให้เป็นแหล่งอ้างอิง (Reference) ดูให้เป็นแนวทางต่อยอดพัฒนาตัวเอง จงบอกตัวเองแค่ว่า “แค่มีคนชอบแค่หนึ่ง หนึ่งนั่นคือกำไรของเราค่ะ”

ช่างเป็นเพจที่ให้แรงบันดาลใจไฟฝันให้กับคนที่รักการถ่ายภาพจริงเชียว และต้องขอย้ำเลยว่า moveonblog.com รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์แบบ Exclusive Interview ครั้งนี้

ขอขอบพระคุณเรื่องราวและรูปภาพของ เพจช่างเล่า มา ณ ที่นี้