Site icon moveonblog.com

รับมือยังไง ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัวชอบเอาเปรียบ

รับมืออย่างไร ? เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานเอาเปรียบ ?

Photo by Matthew Henry on Unsplash

แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบหรอกค่ะคนที่เห็นแก่ตัว และชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ตามสไตล์ว่า พูดไว้ก่อน เสนอไว้ก่อน และโยนให้คนอื่นทำ หรือจะเป็นคาแรคเตอร์ไม่ได้ทำอะไรก็แย่งงานคนอื่นไปนำเสนอ รวมทั้งคนที่เอาเปรียบด้วยการอู้งานเป็นประจำและออกแนวช่างติชอบโทษคนอื่นตลอดเวลา แต่ถ้าเราจำเป็นต้องเจอกับคนที่เป็นแบบนั้นในที่ทำงาน ควรจะต้องทำไงดีละ ?

Photo by Sunny Ng on Unsplash

งานนี้ย้ำก่อนเลยนะคะ ผู้เขียนไม่ได้เขียนแบบมโนขึ้นมาเองและไม่ได้เขียนจากชีวิตส่วนตัวนะคะ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด แต่ได้เลือกรวบรวมจากเทรนด์บน Google ชาวเน็ตนิยมค้นหาวิธีการจัดการเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัว เพื่อช่วยให้คุณ “Move on” ตามสโลแกนของเว็บไซต์เรา จึงเลือกสรุปความเห็นจากหลาย ๆ เว็บไซต์ชื่อดังมาเล่าให้ฟัง และเสนอเป็นทางออกสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่พบเจอกับคนเห็นแก่ตัว บางครั้งก็กลัวใจว่าจะ ทนไหวแค่ไหน ไม่อยากลาออก เพราะยังคงรักงานที่ทำอยู่ เพราะคงไม่แฟร์แน่ ๆ หากเหตุผลการลาออกของเรานั้น เป็นเพราะเบื่อจะทนคนเห็นแก่ตัวที่เอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา

Photo by Sharon Garcia on Unsplash

เจอแบบนี้ ? จะเอาตัวรอดจากเพื่อนร่วมงานเห็นแก่ตัวยังไงดีหนอ ?

ถ้าเลือกอยู่ต่อและต้องเจอกับคนเห็นแก่ตัวเสมอ สไตล์ที่ว่า “ความผิดของตัวเองเล็กจิ๋วเท่าเส้นผม แต่ความผิดคนอื่นใหญ่เท่าภูเขา หรือแทบจะเท่าก็อตซิล่าอยู่แล้ว” เราอาจจะต้องจมกับภาวะไม่โอเค ต้องตั้งรับตลอดเวลา พร้อมกับเจอมลพิษแย่ ๆ ทางอารมณ์แบบนี้ต้องทำไงดี ?

Photo by Anthony Tran on Unsplash

หากรู้สึกแย่ให้ใส่เกียร์ถอยหลังออกมาตั้งหลักก่อนค่ะ

เป็นธรรมดาและสัจธรรมของโลกอยู่แล้วที่เราต้องพบเจอกับคนร้อยพ่อพันแม่ที่มีนิสัยหลากหลาย เราไม่สามารถกะเกณฑ์กำหนดชีวิตของพวกเขาได้หรอกค่ะ แต่เราสามารถเลือกจะหลีกหนีได้

เอาเป็นว่า หากคุณโมโห เกิดอารมณ์พลุ่งพล่านหายใจเข้าลึก ๆ อย่าใกล้กับโซเชียล อย่าเพิ่งโพสต์อะไรด่าทอคนแบบนั้น เพราะเขาอาจจะนำข้อมูลบนโซเชียลของเรากลับมาเล่นงานเราได้เสมอ

อย่างไรก็ดี จำไว้ว่า หากเรื่องราวที่เขาเห็นแก่ตัวนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา ก็จงบอกใจตัวเองว่า “ช่างเขาเถิดปล่อยเขาไป เขาเป็นใครก็ให้เขาเป็นไป” และหาทางหลีกหนีจากคนเห็นแก่ตัวให้ได้ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องอยู่ใกล้ สนทนาแต่พอจำเป็นเน้นเรื่องงาน เมื่อถึงเวลาพวกเขาก็จะได้รับกรรมที่ก่อเอาไว้เองค่ะ ควรใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว

Photo by Isabell Winter on Unsplash

 

ลองแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน

หลังจากเคลียร์จบ ! ถ้าเจอเพื่อนร่วมงานจอมฮุบ งานนั้นก็ผมทำ งานนี้ผมก็ดีไซน์ งานนี้ผมก็คิด แต่เจ้าตัวไม่เคยทำอะไรเลย ควรจะพูดคุยแบ่งหน้าที่การงานให้ชัดเจนว่า จากนี้ควรแบ่งงานว่าจะต้องทำอะไร รับผิดชอบส่วนไหนบนเป้าหมายให้งานสำเร็จลุล่วง และต้องทำงานส่วนของเราให้ดีที่สุด อย่าก้าวก่ายกันเด็ดขาด แนะนำให้คุณแบ่งงานให้ชัด พิสูจน์ว่าเราทำได้ และเต็มที่กับงาน ดั่งคำกล่าวว่า “ใครทำคนนั้นได้” รับรองว่าสบายใจขึ้นเยอะ มีความสุขขึ้นแยะ

Photo by You X Ventures on Unsplash

หากเจอคนเอาเปรียบใส่ร้ายเราอธิบายความจริงให้ทุกคนรับรู้

ต้องย้ำก่อนว่า ถ้าเราทำผิดจริงก็ต้องยอมรับผิด อย่าโทษคนอื่นและเลือกปรับตัว แต่ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกลับเจอคนเห็นแก่ตัวโยนโทษมาให้ เจอคนไม่ทำงานแต่ไล่โทษชาวบ้านแบบนี้ บางครั้งไม่เกี่ยวอะไรกับหน้าที่ของตัวเองด้วยแต่กลับมาด่าทอเรา เอาละสิ ? งานนี้เจอคนเอาเปรียบใส่ร้าย เราต้องรับมืออย่างไร ?

เพราะความจริงไม่มีวันตาย อยู่ที่จะรู้ความจริงเมื่อไหร่เท่านั้น ไม่ต้องเป็นนางเอกค่ะ ถ้าไม่ได้ทำผิดก็ไม่ต้องรับความผิดเอาไว้เองค่ะ บอกคนอื่นให้รู้ความจริงเลยว่า อะไรเป็นอะไร ?

หากหนักหน่วงเกินไป ควรขอความช่วยเหลือ
จากฝ่ายบุคคล (HR) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงขั้นต่อไป

แนะนำว่า อย่าใช้อารมณ์ให้พูดกันด้วยเหตุผล เตรียมหลักฐานไว้ด้วย จะดีมาก เน้นอธิบายความถูกต้องเป็นหลัก เชื่อว่า ฝ่ายบุคคล (HR) เจ้านายที่ดีและหัวหน้าที่ดีจะเข้าใจค่ะ

อย่าลืมว่าเราเปลี่ยนใครไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนตัวเอง สำหรับชาวพุทธที่เจอเหตุการณ์ใส่ร้าย เราควรมีอุเบกขาไว้ก่อน “วางเฉย ทำใจเป็นกลาง หนักแน่นไว้ก่อน” จะช่วยให้เรามีสติแก้ไขสถานการณ์ได้ หากเราไม่ได้ทำผิด ไม่ต้องกลัวค่ะ

Photo by Eliott Reyna on Unsplash

ไม่ชอบแบบไหนอย่าทำแบบนั้น

ขออนุญาตหยิบยกบทความพนักงานเทนเซ็นต์ แนะเคล็ดลับมนุษย์เงินเดือน 7 ข้อ ระบุว่า “การเอานิสัยเสียของคนอื่นมาใส่ไว้ในใจตัวเองเป็นเรื่องที่แก้ยาก และเอาเข้าจริงก็คือ แก้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ทางที่ดีควรนำคติในการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่นอย่างฮันเมนเคียวฉิ (反面教師) มาปรับใช้จะดีที่สุด”

รวมแล้วคำนี้แปลตรงตัวว่า “ครูด้านตรงข้าม” นั่นก็คือ การนำแบบอย่างของนิสัยที่ไม่ดีในคนอื่นมาเป็นครูของเรา เพื่อให้เราไม่ทำพฤติกรรมแบบนั้นนั่นเอง

Photo by Raghav Modi on Unsplash

เนื้อหาบทความฮันเมนเคียวฉิ (反面教師) อธิบายเพิ่มว่า

ถ้าเราไม่ชอบอะไรในแบบที่เขาเป็น เราก็ต้องไม่เป็นคนแบบนั้น ง่ายๆ เพียงแค่นี้ก็ลดปริมาณคนนิสัยไม่ดีในออฟฟิศไปได้อีกหนึ่งคน”

“Let’s move on. เพราะชีวิตต้องไปต่อ”ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้คุณหลีกหนีคนกลุ่มนี้ให้ไกล อย่าเสียเวลากับพวกเขาเลยค่ะ จะดีที่สุด 🙂 และอย่าลืมกล่าวขอบคุณคนเห็นแก่ตัว คนที่เอารัดเอาเปรียบเหล่านั้นที่ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิต และเรียนรู้ว่าไม่ควรที่จะทำนิสัยแบบไหนด้วยนะคะ

เมื่อรู้วิธีรับมือคนเห็นแก่ตัว ก็จงอย่าให้เกิดสถานการณ์ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองเด็ดขาดนะ

แหล่งข้อมูล