อยากลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ต้องทำไง ?

อยากลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ต้องทำไง ?

อยากเป็นฟรีแลนซ์ต้องทำไงดี ?

แค่คิดว่าจะต้องตื่นเช้าเบียดเสียดผู้คนเพื่อเดินทางออกไปทำงานแต่ด้วยข้อดีที่ได้เงินก้อนสม่ำเสมอทุกเดือน แต่หากใครที่คิดวนเวียนหลายรอบว่า ทำไงดีนะ ? เบื่องานไม่อยากทํางานประจํา อยากลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ (Freelance) เป็นเจ้านายตัวเองแล้ว !! จะทำอย่างไรดี ตรงนี้ผู้เขียนขอให้คุณใจเย็น ๆ และลองเช็กตัวเองก่อนว่า “คุณพร้อมที่จะเป็นฟรีแลนซ์แล้วหรือยัง ?”

ฟรีแลนซ์ (Freelance) คืออะไร ?

ก่อนเข้าเรื่องเช็กความพร้อมของการเป็นฟรีแลนซ์ฉบับเบื้องต้น เรามาทำความเข้าใจความหมายของอาชีพฟรีแลนซ์กันเถอะว่า แปลว่าอะไรกันนะ เมื่อหาข้อมูลเราพบกับเว็บไซต์วิกิพีเดียให้ความหมายว่า

“ฟรีแลนซ์ คือ ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างอิสระที่ไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงาน หรือองค์กร หรือบริษัทใด ๆ พนักงานฟรีแลนซ์จะต้องจัดตารางเวลาการทำงานของตนเอง การรับเงินจากนายจ้าง ก็จะเป็นลักษณะใดก็แล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานความพึงพอใจของทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง”

อืม… ให้ความหมายค่อนข้างเป็นทางการใช่ไหมคะ เรามาอธิบายง่าย ๆ ให้เข้าใจแบบตรงไปตรงมากันเลยดีกว่า จริง ๆ แล้ว ฟรีแลนซ์เนี้ยะเป็นการทำงานที่…

  • ไม่มีบอส
  • ไม่มีเจ้านายคอยคุม
  • ไม่มีฝ่ายบุคคลคอยเช็กเวลาขาดลามาสาย
  • ไม่มีเพื่อนร่วมงานให้คอยปวดหัว

มีแต่ลูกค้า ลูกค้า และลูกค้า ดังนั้น ฟรีแลนซ์จะต้องทำงานเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่รักให้มากที่สุด และต้องแก้ไขปัญหาของลูกค้าตัวจริงของคุณ หากคุณช่วยแก้ไขปัญหาที่เขามีได้มากเท่าไหร่ ลูกค้าก็จะประทับใจและจ้างงานคุณอย่างต่อเนื่องนั้นเอง โดย (ว่าที่) ฟรีแลนซ์จะต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก ๆ ที่จะทำงานให้เสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนั้น ฟรีแลนซ์จึงไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอน ไม่มีเวลาตอกบัตรเหมือนพนักงานทั่วไป ๆ ล่ะจ้ะ

ล่าสุด อาชีพนี้เริ่มฮอตฮิตขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากค่ายหนังดังผลิตภาพยนตร์มานั้นแหละ ไม่แปลกค่ะเพราะนี้เป็นเทรนด์ของโลก หรือ Gig Economy (เดี๋ยว เพิ่งทำความเข้าใจฟรีแลนซ์ไปนี้คำศัพท์อะไรมาอีกแล้ว) อันนี้ผู้เขียนไม่ได้มโนโมเมขึ้นมานะจ๊ะ ขอหยิบยกบทวิเคราะห์จากธนาคารไทยพาณิชย์มาเล่าให้ฟังเลยดีกว่า หากคุณกำลังสนใจที่จะมาเป็นฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว 

อยากลาออกมาเป็นฟรีแลนด์ ต้องใจเย็น ๆและตอบคำถามให้ได้ว่า วันนี้คุณมีความประสบการณ์ใดและมีความเชี่ยวชาญในด้านไหนที่สามารถแก้ไขปัญหาของลูกค้าหรือผู้จ้างงานได้  ? ดังนั้นจงตอบให้ได้ว่าคุณมีข้อดีอะไรที่ทำให้ลูกค้าต้องเลือกจ้างคุณแทนที่จะต้องจ้างพนักงานประจำ ?

อัปเดทสถานการณ์ฟรีแลนซ์

อ้างอิงจากบทวิจัยไทยพาณิชย์ หรือ EIC ได้ประเมินไว้ตั้งแต่ปี 2017 แล้วว่า Gig Economy: โลกยุคใหม่ของคนทำงาน คำว่า Gig เป็นคำเรียกนักร้องนักดนตรีที่รับจ้างงานเป็นครั้ง ๆ ซึ่งหมายความว่าการทำงานที่รับจ้างเป็นครั้ง ทำงานเสร็จก็จบปิดจ็อบกันไป ทำงานอิสระแบบไม่ยึดติด ผสานกับนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้นก่อให้เกิดอาชีพนี้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน หรือที่คุ้น ๆ ในชื่อว่า 

  • พาร์ทไทม์ (Part-time)
  • เอาท์ซอร์ส (Out-Source)

เริ่มต้นขึ้นที่อเมริกาเป็นแห่งแรก เพราะเหล่า Gig Worker มีเหตุผลหลัก คือ ต้องการสมดุลชีวิตและการทำงาน (Work-life balance) นึกไม่ออกก็ขอให้มองการขับรถอูเบอร์ที่เคยฮอตสุ๊ดสุดมาช่วงนึงในเมืองไทยล่ะค่ะ

แต่ในวันนี้เมืองไทยก็มีฟรีแลนซ์ที่เพิ่มขึ้นเป็นผุดทั่วหองระแหงจนเป็นดอกเห็ดการแข่งขันก็สูงขึ้น แต่ก็มีแพลตฟอร์มทั้งเว็บไซต์ fastwork.co หรือเว็บไซต์ freelancebay.com ของเหล่าสตาร์ทอัพที่เปิดช่องทางขึ้นมาเปิดพื้นที่ให้คนมีฝีมือได้แสดงศักยภาพกันในด้านที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเป็น

  • เขียนบทความ
  • ถ่ายภาพ เช่น shutterstock.com
  • ตัดต่อวิดีโอ
  • หรือแปลภาษา
  • และยังมีงานอื่น ๆ อีกเพียบ

การสร้างรายได้ที่ง่ายและสบายแบบไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน แถมมีเวลาเหลือให้พัฒนาตัวเองอีกเพียบ เสียอย่างเดียวคือรายได้นั้นไม่แน่นอน และไม่ชัวร์ว่าคุณจะได้เงินเดือนเยอะ ๆ แบบนี้ทุกเดือนหรือเปล่า ? หรือจะเจอกับลูกค้าที่ไม่น่ารักรับงานไปแล้วล่องหนก็อาจจะมีเหมือนกัน

นอกจากนี้ ฟรีแลนซ์หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้างจึงไม่ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตรงนี้คุณเตรียมใจไว้หรือยัง ? อ่านมาถึงตรงนี้ คุณยังอยากลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์อยู่ไหมคะ ถ้าพร้อมแล้ว !! เรามาเช็กความพร้อมก่อนลาออกจากงานประจำกันเลย!!


เช็กความพร้อม ก่อนลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์

มาถึงบุคลิกของผู้ที่พร้อม Ready to Freelance !! ว่ามีอะไรบ้าง Move on แบ่งเป็นหัวข้อ ๆ แยกย่อยให้แล้วจ้ะ 

1. มีประสบการณ์แน่นปึ้ก !

เพื่อให้คุณเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพ !!! บุคลิกของผู้ที่เหมาะจะลุยงานสายนี้ก็คือ “คุณจะต้องมีประสบการณ์อันโชกโชน” สิ่งนี้สำคัญที่สุด คือ ความน่าเชื่อถือ และผลงานที่ดีเสมอมาจะช่วยให้คุณหางานได้ดีเลยล่ะ เพราะลูกค้าจะขอดูผลงานเบื้องต้นก่อนตัดสินใจจ้างนั้นเองล่ะจ้า

2. คุณต้องมีพลังล้นเหลือ

สำหรับคนที่มีแรงเหลือแบบล้น ๆ อยากลองทำฟรีแลนซ์ควบคู่กับงานประจำไม่ใช่เรื่องเสียหายค่ะ คุณไม่จำเป็นต้องลาออกจากงานมาเพื่อทำฟรีแลนซ์อย่างเดียว เพราะสามารถทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน !! เหนื่อยหน่อยแต่คุ้มกว่า เพราะไม่ต้องเสี่ยงเกินไป และถ้าทำแล้วดี ค่อยว่ากันอีกทีเนาะ

3. เป็นคนที่อ่านเกมธุรกิจและมีกลยุทธ์ปิดการขาย

งงไหม ? จริง ๆ แล้วผู้เขียนอยากจะบอกว่า คุณจะต้องมีแผนการขาย หรือโปรโมชันในตัวเอง เพราะการลงทุนเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ต่างอะไรกับการทำธุรกิจเปิดร้าน หรือธุรกิจขายของ แม้จะไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองเป็นต้นทุน แต่ต้องใช้แรงกาย แรงใจ หนึ่งสมองสองมือของเราเนี้ยะแหละค่ะเป็นต้นทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งผู้เขียนจะพูดติดปากอยู่เสมอ ๆ ว่าเป็นธุรกิจจับเสือมือเปล่าที่ต้องใช้กลยุทธ์กันสักหน่อย

4. พูดเก่ง ขายเก่ง

“ไม่อยากพูดเยอะเจ็บคอ” ประโยคฮิตนี้ใช้กับงานฟรีแลนซ์ไม่ได้นะคะ เพราะไม่พูดคุณอาจจะเสียลูกค้าไปตลอดกาล ดังนั้น บุคลิกของผู้ที่จะสามารถยืนหยัดได้ในสังเวียนฟรีแลนซ์จะต้องรู้จักพูด รู้จักคุย และรู้จักเจรจา เพื่อหาทางแก้ไขให้กับลูกค้า โดยการใช้ความสามารถที่เรามีให้เต็มที่ล่ะ

5. มีความรับผิดชอบต่องานและตรงต่อเวลา

คุณสมบัตินี้ไม่ว่าใคร ๆ ก็ต้องมีมนุษย์เงินเดือนยิ่งต้องมี และการทำฟรีแลนซ์ก็เช่นกัน ด้วยความที่ไม่มีใครบังคับกะเกณฑ์ว่าต้องทำอันโน้น ส่งอันนี้ ทำแบบนี้ หรืออื่น ๆ พร้อมกับส่งมอบงานที่ดีมีคุณภาพ สร้างความประทับใจให้เหนือกว่าที่ลูกค้าคาดหวัง เรียกได้ว่า คุณสมบัติข้อนี้สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าข้ออื่นเลย

เป็นอย่างไรบ้างคะ เช็กแล้วมีกี่ข้อบ้างนะ หากยังไม่มั่นใจ เราอยากให้คุณถามตัวเองว่า วันนี้คุณทำอะไรได้เจ๋งเป้งที่สุด คุณทำอะไรแล้วรู้สึกไม่เหนื่อยใจและไม่เครียดเกินไป รักและรู้สึกพอใจกับสิ่ง ๆ นั้น เช่น ผู้เขียนรักในการเขียนบทความ จึงเก็บประสบการณ์จากการเป็นรีไรท์เตอร์ในเว็บไซต์ชื่อดังแห่งนึง สานต่อมาเป็นนักข่าวตัวกระจ้อยร่อยที่คอยวิ่งข่าวให้กับนิตยสาร และแอบเรียนรู้การเขียนคอนเทนต์บนเว็บไซต์จนในวันนี้แน่ใจแล้วค่ะว่า จะหากินกับการเขียน (555+) เป็นตัวอย่างคร่าว ๆ ที่เล่าให้ฟังนะคะ 

และไม่ว่าคุณจะได้คำตอบว่าอะไร แต่ถ้าอีกใจนึงคุณกำลังอยากลาออก หรือไม่อยากทำงานประจำเต็มแก่ จงกำลังมองหาลู่ทางใหม่ ๆ  ที่สร้างรายได้ระยะยาวให้กับคุณในวันนี้ ผู้เขียนอยากให้คุณเช็กให้ดี ถามใจตัวเองให้พร้อมก่อนลาออกจากงาน กับคำถามที่ต้องตอบให้ได้ก่อนตัดสินใจ เตรียมตัวให้พร้อมก่อนตัดสินใจนะคะ 

Source: th.wikipedia.org , bbc.com