นักเขียนฟรีแลนซ์ (มือใหม่) หางานจากไหน ?!

นักเขียนฟรีแลนซ์ (มือใหม่) หางานจากไหน ?!

เพราะงานคือเงิน เงินคืองานสร้างรายได้

แน่นอนว่า การเป็นนักเขียนอิสระ หรือ Content Writer รับจ้างทั่วไป ไม่ฝักใฝ่ว่าจะทำประจำให้กับใครเป็นพิเศษ … โดยเฉพาะนักเขียนหน้าใหม่ที่เพิ่งทำฟรีแลนซ์ หรือเพิ่งเคยเป็นฟรีแลนซ์ นอกจากการเขียนบทความลงตามเว็บไซต์เขียนบทความได้เงิน & ได้ประสบการณ์ที่เปิดโอกาสให้หารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ครั้งละ 100 บาท อาจจะไม่เพียงพอยึดเป็นอาชีพหลักเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วแบบนี้เราต้องทำยังไง ?

ยิ่งเป็นนักเขียนมือใหม่ที่ไม่มีเส้นสาย No Connection !! และยัง No Name ไม่มีผลงานมากพอที่จะส่งให้ลูกค้าพิจารณาจ้างทำบทความ

บทความนี้ผู้เขียนต้องขอบอกก่อนว่า เราอธิบายช่องทางทำเงิน ช่องทางหารายได้ หรือช่องทางหาลูกค้า เฉพาะนักเขียนฟรีแลนซ์ในกลุ่ม Content Marketing บนเว็บไซต์เท่านั้นนะคะ ซึ่งถ่ายทอดมาจากประสบการณ์จริงของ Butter Cutter หรือผู้เขียนเองทั้งหมดค่ะ บอกแบบไม่กั๊กด้วย

หมายเหตุ : ไม่ได้พ่วงรวมช่องทางทำเงินของนักเขียนนิยาย นักเขียนอื่น ๆ นะคะ เนื่องจากส่วนตัวไม่มีประสบการณ์ด้านดังกล่าวเลย


FYI : Content Marketing (คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง) คือ บทความหรือเนื้อหาที่ช่วยดึงดูดความสนใจของชาวเน็ต ซึ่งเป็นเนื้อหาช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจมียอดขาย สร้างรายได้ หรือสร้างการรับรู้เป็นหลัก ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการตลาดว่าจะปั้นคอนเทนต์นั้นมาเพื่ออะไร

ก่อนจะขายงานให้กับลูกค้าเราจะต้อง..

สะสมผลงานเขียนไว้เยอะ ๆ ยิ่งหลากหลายเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะสร้างรายได้ได้มากกว่า และสามารถเป็นโกสท์ไรท์เตอร์ (Ghost Writer) มืออาชีพได้ และถ้าเรามั่นใจในฝีมือการเขียนของเราแล้วก็ลุยขายงานคอนเทนต์ให้ลูกค้ากันเลย 

อย่างตอนช่วงแรก ๆ เมื่อ 3 ปีก่อนที่ Butter Cutter หรือผู้เขียนเริ่มเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ช่วงแรกที่โนเนมต้องบอกว่า “ไม่ง่าย” ได้เงินค่าบทความละ 50 บาทมาแล้วก็เคย !! หรือบางครั้งทำฟรีก็มี !! แต่ก็ต้องทำ เพราะทุกอย่างคือประสบการณ์นะจ้ะ

โกสท์ไรท์เตอร์ (Ghost Writer) หมายถึง นักเขียนรับจ้างทำหน้าที่เขียนหนังสือ บทความ คอนเทนต์ เรื่องราว รายงาน หรืองานเขียนอื่น ๆ แทนเจ้าของหรือธุรกิจ ไม่ใช่นักเขียนที่เขียนเรื่องผีแต่อย่างใดนะ


คำถาม : นักเขียนฟรีแลนซ์หางานจากไหน ?

คำตอบ : หางานจากเว็บไซต์หรือบนโซเชียลมีเดียก็ได้

“ไม่ได้ตอบแบบกำปั้นทุบดินแต่อย่างใด” เพราะเราสามารถรับงานเขียนฟรีแลนซ์จากเว็บไซต์ หรือบนโซเชียลมีเดียได้จริง ๆ แต่ก็มีข้อควรระวังหลายอย่างที่เราต้องพิจารณาก่อนรับงาน เพราะบางคนรับงานเขียนเราไปแล้ว แต่ชักดาบเล่นแง่ไม่โอนเงินให้ก็มีถมเถไป ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าแยกอีกบทความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

ช่องทางหางานนักเขียนฟรีแลนซ์

เพื่อความความเข้าใจอันดี เราขอแบ่งช่องทางหาลูกค้า หางานของนักเขียนฟรีแลนซ์สาย Content Marketing โดยไม่ขอพูดถึงการหางานฟรีแลนซ์ตามเว็บไซต์หางานนะคะ แนะนำ 4 ช่องทางหาเงินหางานแบบฉบับฟรีแลนซ์ ดังนี้

  • Fastwork.co
  • FreelanceBay
  • ดิจิทัลเตาะแตะ​ Connect-หางานหาคนหาเอเจนซี่หาInfluencer
  • Content writer ฟรีแลนซ์ นักเขียน บทความ หางาน จ้างงาน

ป่ะ ไปดูกันว่า ช่องทางไหนเหมาะกับเรา 🙂 พร้อมกับสรุปให้เห็นชัด ๆ ว่า เราควรเตรียมอะไรบ้าง

1. Fastwork.co

ฟาสเวิร์ก (Fastwork.co) เป็นเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับฟรีแลนซ์ไทย ซึ่งเปิดบริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เห็นว่าตอนนี้มีผู้ใช้งาน (ลูกค้า) ในระบบกว่า 3 แสนราย และก็มีฟรีแลนซ์ที่หลากหลาย นักเขียนคอนเทนต์ก็สามารถเข้าไปสมัครได้ ราคาบทความเริ่มต้นที่ 350 บาท/เรื่อง (แต่เราจะไม่ได้เต็ม ๆ นะ เพราะจะถูกหักค่าบริการ) โดยราคาว่าจ้างนั้นจะขึ้นอยู่กับการตกลงกันเองระหว่างฟรีแลนซ์และผู้ว่าจ้าง

  • วิธีสมัครเป็นฟรีแลนซ์บน Fastwork ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ต้องเตรียมผลงานของเรา และข้อมูลบางส่วนไว้ยืนยันตัวตน ทำตามขั้นตอนครบถ้วน ประมาณ 12 ชั่วโมงก็รู้ผลทันทีว่า จะได้เป็นฟรีแลนซ์กับ Fastwork ไหม หากผ่านการพิจารณาก็สามารถรอต้อนรับลูกค้ามาติดต่อจ้างงานได้เลย

สิ่งสำคัญต้องเตรียมก่อนสมัคร Fastwork

  • ไฟล์ภาพผลงานของเราที่เคยเขียน แคปเป็นภาพเตรียมไว้
  • คิดชื่องาน พร้อมกับคำอธิบายให้โดดเด่นเป็นที่จดจำ ตรงนี้สัญญาว่าจะเขียนอธิบายอีกบทความแนะนำนะคะ (กลัวเขียนเล่าจะยาวเกินควร)
  • พร้อมกับคำนวณเรทราคาบทความของเราตามความเหมาะสม เริ่มต้นที่ 350 บาท
ิช่องทางหาลูกค้าของนักเขีนฟรีแลนซ์
ส่วนตัวผู้เขียนก็ทำอยู่เหมือนกันค่ะ ภายใต้ชื่อบริการ “มือเขียนรับจ้างคนสร้างคอนเทนต์”

ข้อดีที่น่าสนใจ

หากไม่ชอบทำใบเสนอราคาเอง โดยเฉพาะฟรีแลนซ์หน้าใหม่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ อะไรคือใบเสนอราคา อะไรคือใบเสร็จรับเงิน อะไรคือหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% การเริ่มทำฟรีแลนซ์หาลูกค้าบนเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่น Fastwork เป็นอะไรที่เวิร์ค เพราะเราไม่ต้องกลัวเลยว่า ลูกค้าจะเบี้ยวเงินหรือเปล่า หรือหนีหายไม่จ่ายเงิน การว่าจ้างจะเกิดขึ้นหลังจากลูกค้ากดชำระเงินเท่านั้น

ปล. เราจะรับเงินได้ก็ต่อเมื่อทำงานเสร็จแล้วเช่นกันจ้ะ ประหนึ่งยื่นหมูยื่นแมว งานมาเงินไปประมาณนั้น ระบบ Fastwork จะรวบรวมเงินไว้ให้ พร้อมกับโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของฟรีแลนซ์ทุก ๆ วันอังคาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน 

ข้อควรระวัง

  • สมัครค่อนข้างยากบางครั้งไม่ผ่านเกณฑ์ก็มี อย่างเมื่อก่อนผู้เขียนเองก็สมัครไม่ผ่านนะ ต้องใช้เวลาสมัครเกือบปี ส่งไปหลายรอบจนถอดใจ อาจเป็นเพราะตอนนั้นไม่มีประสบการณ์งานเขียน
  • ถึงจะมีข้อดีคือสมัครฟรี แต่มีระบบการจัดเก็บค่าบริการแบบขั้นบันได (ที่เก็บเยอะเหมือนกัน) เช่น
    • น้อยกว่า 10,000 บาท Fastwork จะเก็บทันที 17% 
    • 10,000 – 50,000 บาท Fastwork จะจัดเก็บค่าบริการ 12%
    • เกิน 50,000 บาทเป็นต้นไป จะจัดเก็บค่าบริการเพียง 7%

ดังนั้น คำนวณเงินให้ดีนะจ้ะ …. 

อ้อ !! สิ่งที่คุณต้องรู้ คือ ห้ามแลกข้อมูลเบอร์โทร อีเมล ไลน์ หรืออื่น ๆ กับลูกค้าเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกปิดระบบไม่ให้เป็นฟรีแลนซ์นะคะ

2. FreelanceBay

เว็บไซต์ฟรีแลนซ์เบย์ (FreelanceBay) เป็นเว็บไซต์ที่ถูกบริหารงานโดยทีมงานจาก บริษัท ไทยแวร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทเดียวกับที่ดูแลเว็บไซต์ Thaiware.com จัดว่าเป็นเป็นแหล่งโชว์เคสของฟรีแลนซ์ และแหล่งหางานด้วย ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวเราจะต้องเตรียมผลงานเหมือนกับที่เตรียมให้ Fastwork ค่ะ พร้อมกับประสานงานกับลูกค้าด้วยตัวเอง ประสานเรื่องเงินด้วยตัวเอง ทุกสิ่งอย่าง

สมัครไว้ตั้งแต่ปี 2018 แล้วค่ะ แต่ไม่ค่อยได้ลูกค้าเท่าไหร่ แต่สร้างโปรไฟล์ได้ดีพอสมควรเลยจ้า

ข้อดีที่น่าสนใจ

ระบบไม่ผูกมัด อยากทำอะไรก็ได้ ตามใจเราเลย มีบทความและข้อมูลเติมความรู้ให้ฟรีแลนซ์เสมอ ๆ

ข้อควรระวัง

การโอนเงิน และค่าจ้างต้องดูแลเองทั้งหมด

3. ดิจิทัลเตาะแตะหาคน หางาน

มาถึงกรุ๊ปบนเฟซบุ๊กที่ฮอตติดปรอท !!! อย่างดิจิทัลเตาะแตะหาคน หางาน เป็นกรุ๊ปที่คนทำงานด้านดิจิทัลต้องมีก็ว่าได้ เพราะเป็นแหล่งรวมตัวเทพด้านนี้ไว้แบบจัดเต็ม ในส่วนวิธีการหางานนั้น … หลังจากกดเข้าร่วมกลุ่ม คุณไม่ต้องสมัครงานให้ยุ่งยากเหมือน 2 เว็บไซต์แรกที่เราเล่ามา คุณจะต้องเลื่อนหางานเอาเอง ตาม Tag ซึ่งจะต้องอ่านรายละเอียดให้ดีว่า ถ้าสนใจรับงาน หรืออยากจะเสนอตัวว่าเราทำงานนี้ได้ คุณจะต้องส่งอีเมล หรือจะต้องแชท Inbox ติดต่อโดยตรงกับผู้ว่าจ้างเอง

อ้อ ! ในกรุ๊ปสาธารณะแห่งนี้ ฟรีแลนซ์สามารถโพสต์ CV ประวัติของเราเพื่อหางานฟรีแลนซ์ทำได้ด้วยนะ แต่ต้องทำตามกฎ Add Topics ให้ถูกต้องด้วย

ข้อดีที่น่าสนใจ

เราจะได้มีคอนเนคชั่นใหม่ ๆ รู้จักผู้คนในแวดวงการตลาดออนไลน์มากขึ้น เพราะมีสมาชิกร่วมกลุ่มกว่า 18,000 ราย ช่วยเพิ่มประสบการณ์หลากหลาย และมีโอกาสจ้างงานต่อเนื่องมากกว่า

ข้อควรระวัง

จะต้องประสานงานเองทั้งหมด ดังนั้น เราจะต้องมีความรับผิดชอบในการทำงาน และจะต้องพูดคุยเรื่องสัญญากับผู้ว่าจ้างให้ดีก่อนรับงาน

นักเขียนฟรีแลนซ์ (มือใหม่) หางานจากไหน ?!

4. content writer ฟรีแลนซ์ นักเขียน บทความ หางาน จ้างงาน

สำหรับกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ผู้เขียนสิงสถิตย์และติดตามความเคลื่อนไหวมานานเหมือนกันค่ะ และเห็นว่ามีความน่าสนใจเหมาะจะเป็นพิกัดหางานของฟรีแลนซ์สาย Content มีสมาชิกอยู่ประมาณ 10,000 ราย สร้างโดยเพจแหล่งรวมฟรีแลนซ์นักออกแบบ มีงานให้เลือกเยอะเหมือนกัน ซึ่งคุณจะต้องเลือกเอาเองจ้า

ข้อดีที่น่าสนใจ

มีงานให้ทุกวัน รายได้จะต้องเจรจาต่อรองกับผู้ว่าจ้างเอง

ข้อควรระวัง

จะต้องเลือกทำงานกับบริษัท หรือผู้ว่าจ้างที่มีความน่าเชื่อถือ ไม่แนะนำให้รับทำงานเขียนผิดกฎหมาย หรือการพนัน

และการเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ หรือ Content Writer ฟรีแลนซ์ เราจะต้องดีลงานเอง พูดคุยงานกับลูกค้าทั้งหมด และต้องประสานงานเองทั้งหมด คิดหัวข้อ หาภาพ หรือแม้กระทั่งทำภาพกราฟิก ฯลฯ ทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ เราต้องหามาให้ได้ โดยการรับงานเขียนเช่นนี้จะมีขั้นตอนเพิ่มเติม ไม่เหมือนกับการเขียนคอนเทนต์ตามใจฉันแล้วโพสต์ลงบนเว็บไซต์ TrueID, Readme, Blockdit หรือ Noozup ที่เราเคยเล่ามาดังนั้น ก่อนจะลงสนามจริง !! เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ฝึกฝีมือให้มาก เสพย์บทความให้เยอะ และต้องตีโจทย์ของลูกค้าให้แตกนะคะ 🙂