วัฒนธรรมองค์กร “เราอยู่กันแบบครอบครัว” ดีจริงหรือไม่ ?

วัฒนธรรมองค์กร “เราอยู่กันแบบครอบครัว” ดีจริงหรือไม่ ?

บางท่านอาจจะเคยได้ยินองค์กรของตนพูดบอกเสมอว่า “ที่นี่เราอยู่กับแบบครอบครัว”

ในบางครั้งก็ฟังดูอบอุ่นดี เพราะการทำงานแบบครอบครัวนั้นน่าจะสร้างความผูกพันธ์แน่นแฟ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดีเยี่ยม หากวัฒนธรรมองค์กรแกร่งจริง แต่ทว่าที่ไหนมีวัฒนธรรมไม่เจ๋งพอ ก็อาจจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็น ครอบครัวในนิทานพื้นบ้านปลาบู่ทอง หรือละครดังอย่างบ้านทรายทองก็เป็นได้ …

ยิ่งทำให้รู้สึกสงสัยว่า “วัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัวนั้นดีจริงหรือไม่ ?”

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ขอตอบฟันธงว่า วัฒนธรรมองค์กรแบบครอบครัวดีหรือไม่ ? แต่จะเลือกสรุปถ่ายทอดมุมมองของนักเขียนและนักวิเคราะห์สาย Leadership ที่เคยกล่าวเล่าไว้เพื่อประกอบการตัดสินใจจะดีที่สุด ขออนุญาตหยิบยกบทความของ รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข เขียนไว้บนเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2561 ว่า

“วัฒนธรรมแบบครอบครัว ชื่อก็บ่งบอกแล้วถึงความเป็นมิตรอบอุ่นเหมือนคนอยู่ในครอบครัวเดียวกัน องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีผู้นำทำตัวเหมือนเป็นพ่อแม่หรือพี่ใหญ่ให้คำปรึกษาสนับสนุนพนักงานที่เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว

องค์กรจะมีแบบแผนค่านิยมของครอบครัวที่ทุกคนเคารพเชื่อฟัง มีการสื่อสารที่ดีและมีความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่แน่นแฟ้นเป็นกันเอง ทุกคนมีส่วนร่วมรู้เห็น ร่วมกันตัดสินใจและช่วยกันทำงานเพื่อดูแลลูกค้าอย่างเอื้ออาทร มีการทำงานแบบเป็นทีมสูง การมีส่วนร่วมของทุกคนคือจุดแข็งของวัฒนธรรมแบบนี้”

ล่าสุด 5 ตุลาคม 2562 ผู้เขียนพบกับบทความหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ จาก Forbes บอกว่า “Stop Saying Your Company Is Like A Family” เขียนโดยเดนิส ลี โยนน์ (Denise Lee Yohn)

แปลไทย คือ “หยุดพูดเถอะว่าบริษัทของคุณเป็นเหมือนครอบครัว”

เธอให้เหตุผลในบทความไว้ว่า “การที่องค์กรเลือกวัฒนธรรมแบบครอบครัวอาจจะฟังดูดีแต่บางแง่มุมเป็นการปลูกฝังค่านิยมเก่า ๆ  และความล้าสมัยที่อาจจะทำให้องค์กรไม่ไปไหน” เดนิส ลี โยนน์ แนะนำให้เปลี่ยนองค์กรเป็นทีมนักกีฬาแทนจะดีกว่า

เพราะบางทีพนักงานบางคนอาจจะไม่ได้คาดหวังว่าบริษัทคือครอบครัวของเขา เพียงแค่ได้ทำงานแลกกับเงินที่คุ้มค่าก็แล้ว 

ถามว่าทำไมเธอถึงแนะนำให้บริษัทเปลี่ยนแนวคิดใหม่เปลี่ยนองค์กรมาเป็นการพัฒนาทีมกีฬามืออาชีพ มาแข่งขันเรื่องงานให้ดียิ่งขึ้น มีความก้าวหน้ามากขึ้น ภายใต้เป้าหมายที่วางไว้ ประโยชน์ของวัฒนธรรมองค์กรแบบทีมนักกีฬา (Sports Team) moveonblog.com ขออาสาสรุปให้ฟังตามนี้

  • องค์กรแบบทีมนักกีฬา ทุกคนจะมีเป้าหมายชัดเจนกว่าเดิม สร้างแรงจูงใจได้ง่ายกว่า
  • องค์กรแบบทีมนักกีฬา มีบทบาทชัดเจน ว่าพนักงานที่ต้องทำยังไง รับผิดชอบอะไร แน่นอนว่า จะไม่มีการแย่งงาน หรือโยนงานกันอย่างแน่นอน เพราะนักกีฬาทุกคนจะต้องรู้ตำแหน่งและหน้าที่ของตัวเอง
  • องค์กรแบบทีมนักกีฬา มีความหลากหลาย ให้คุณค่ากับทีมงาน พวกเขาจะมีเวลาเฉลิมฉลองกับชัยชนะที่ทำให้กับบริษัท อย่างมีน้ำใจนักกีฬา
  • องค์กรแบบทีมนักกีฬา ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แตกแถว ยิ่งทำให้พัฒนาองค์กรได้ง่าย
  • องค์กรแบบทีมนักกีฬา สร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไม่มีใครเหมือน และสะท้อนถึงคาแรคเตอร์ของผู้นำได้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี การเลือกพัฒนาองค์กรให้เป็นทีมนักกีฬาก็ยังมีความเสี่ยงอยู่นะคะ หากทีมงานขาดความเป็นมืออาชีพ บางคนอาจจะเลือกทำตัวแบบ One man show ! ฉายเดี่ยวไม่แคร์ทีม หากสำเร็จก็แล้วไป แต่ถ้าพลาดมาอาจจะทำให้งานล่มไม่เป็นท่าได้

ตรงนี้ในฐานะผู้จัดการ หรือผู้บริหาร ซึ่งรับตำแหน่งโค้ช และเจ้าของทีม อาจจะต้องเช็กดูให้ดีแล้วล่ะว่า จะมีวิธีการสร้างสมดุลการทำงานอย่างไรให้สัมพันธ์กันไปด้วยกันได้ดี เพื่อจะได้ปลดปล่อยศักยภาพด้านบวกของพนักงานให้ได้มากที่สุด สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรธุรกิจสูงสุด!! และที่แน่ ๆ หากทำได้ดีก็จะช่วยลดอัตราการลาออกได้ชัวร์

อ่านมาถึงตรงนี้ เราไม่ได้กล่าวโทษว่าวัฒนธรรมแบบครอบครัวไม่ดี เพียงแค่บอกเล่าไอเดียว่า ยังมีวัฒนธรรมแบบสร้างทีมนักกีฬาที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้คล่องตัวความยืดหยุ่นและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องยึดติดกับความสัมพันธ์ระบบครอบครัวที่ผูกมัด บนเป้าหมายปลดปล่อยศักยภาพของทีมงาน “ไงล่ะ”

แต่การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้ง่ายแบบนั้น ขอหยิบยกคำกล่าวของ คุณกระทิง พูนผล เจ้าพ่อแห่งวงการสตาร์ทอัพไทย บอกกับเว็บไซต์ BrandAge

“ถ้าคุณจะเปลี่ยน Culture องค์กร อย่างแรกคุณต้องเปลี่ยน Mindset ของ Leader”

นั่นแหละค่ะ เก็บข้อมูลครบถ้วนก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่านแล้วว่า “วัฒนธรรมองค์กรเราอยู่กันแบบครอบครัวดีจริงหรือไม่ ?” หากเป็นพนักงานประจำเลือกแบบที่เหมาะกับคาแรคเตอร์เราก็ได้เนาะ

ขอบคุณข้อมูล forbes.com, bangkokbiznews.combrandage.com

ปล. เป็นบทความที่สรุปเล่าให้กับผู้อ่านเว็บไซต์ moveonblog.com เท่านั้นนะคะ มิได้เกี่ยวกับชีวิตจริงของผู้เขียนแต่อย่างใด อย่าเข้าใจผิดนะคะ 🙂