6 เช็คลิสต์สุขภาพการเงิน อยากรวยต้องเปลี่ยน

6 เช็คลิสต์สุขภาพการเงิน อยากรวยต้องเปลี่ยน

“ถ้าคุณเกิดมาจน มันไม่ใช่ความผิดของคุณ แต่ถ้าตอนที่คุณตาย คุณยังจนอยู่ นั่นแหละเป็นความผิดของคุณ” คำกล่าวสุดคลาสสิกของ ‘บิล เกตส์’ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ผู้ครองตำแหน่งนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดในโลกติดต่อกันยาวนานถึง 4 ปีจากการจัดอันดับโดยนิตยสาร Forbes แน่นอนว่าประโยคสร้างแรงบันดาลใจข้างต้นสามารถช่วยจุดประกายให้เราต้องการสร้างฐานะการเงินให้มั่งคั่งเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต 

แต่ทว่าคงยอมรับว่าทุกเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวนเอาแน่เอานอนไม่ได้ หรือแม้กระทั่งสินค้าลดราคายกทัพ ติดป้าย SALE ยั่วยวนใจให้เห็นอยู่ดาษดื่นเต็มห้างสรรพสินค้า มีผลให้เราเกิดภาวะเฉื่อย บอกตัวเองว่า “เดี๋ยวก่อน เงินค่อยเก็บออมทีหลังก็ได้” หากปล่อยนานล่วงเลยไปอาจหมดไฟถอดใจไปไม่ถึงฝั่งฝันก็เป็นได้

เพื่อให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นแบบ “10 10 ไปเลยจ้า” งานนี้ Move On ขอถือโอกาสรวบรวม 6 วิธีจัดสรรการเงินให้มั่งคั่งอย่างมั่นคงบนเส้นทางเศรษฐีในฉบับเข้าใจง่ายใน 10 นาที ดังนี้

1. คุณมี “เงินเย็น” หรือไม่ ?

อยากรวยใช่หรือไม่ ถ้าอยากคุณต้องรู้จัก คำว่า “เงินเย็น” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายถึงเงินสกุลญี่ปุ่นแต่อย่างใด แต่คือเงินออมหรือเงินเก็บสะสมที่ไม่จำเป็นจะต้องหยิบยืมออกมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันนั้นเอง

อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงินเย็น’ ‘เงินออม’ หรือ ‘เงินฝาก’ นี่เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ถูกลืมอยู่เสมอเพราะบางคนก็นึก “เดี๋ยว… ก็ได้” “เดี๋ยวมีเงินค่อยเก็บก็ได้” หรือแม้กระทั่ง “เดี๋ยวได้เงินโบนัสค่อยเก็บออมก็ได้”

ขณะที่คนส่วนใหญ่มองข้ามแล้ว ทำไมเราถึงต้องเช็คลิสต์ว่า “วันนี้เรามีเงินเย็นไหมหรือไม่ ? ”

หากคำตอบคือ “ไม่มีเงินเย็น” นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนภัยว่าสุขภาพการเงินกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงแล้วล่ะ คงต้องเร่งมือหาทางเก็บออมเงินแบบสมาร์ท เช่น ฝากเงินกับบัญชีที่ให้ผลตอบแทนสูงลงทุนในกองทุน เป็นต้น

ในกรณีที่มีเงินเก็บออมแล้วจะตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินให้แน่ใจอย่างไร ? อ้างอิงมุมมองของสาวสวยนักวางแผนการเงิน แมรี่ เบธ ผู้ก่อตั้ง Workable Wealth ให้คำแนะนำว่า

“นอกจากเราจะต้องวางแผนการเงินให้ตรงกับพฤติกรรมการใช้จ่ายแล้ว เราต้องตรวจเช็คสุขภาพการเงินทุกปี ด้วยการนำมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดหักลบกับมูลค่าหนี้สิน ทั้งนี้ ควรตรวจเช็คอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง”

2. คุณมีรายได้ทั้งหมดกี่ทาง?

นอกจากมีเงินเก็บสำรองจ่ายแล้ว มาเช็คลิสต์ต่อกันเถอะว่า “วันนี้ เรามีรายได้ทั้งหมดกี่ทาง” หากมีรายได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียว คงต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เพราะการประหยัดเงินที่ดีสุด ไม่ใช่การประหยัดการใช้จ่ายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างรายได้เพิ่มด้วยการเริ่มลงทุนในธุรกิจหรือกองทุนที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว

อยากรวย

3. คุณจัดลำดับความสำคัญหนี้สินหรือไม่ ?

“การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่ถ้าหากมีหนี้ก็ต้องใช้คืน ห้ามหนีหนี้โดยเด็ดขาด คำแนะนำของแซลลี่ ครอว์เชค อดีตผู้บริหาร Wall Street ย้ำว่า ควรจ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าเป็นอันดับแรก จะทำให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

4. คุณจดบันทึกค่าใช้จ่ายประจำวันหรือไม่ ?

กว่าจะถึงหนทางความมั่งคั่งได้ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ยังเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพื่อแบ่งรายได้ ให้เป็นสัดส่วน เพื่อนำใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน, ค่าเดินทาง, ค่าอาหาร หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

หากจดบันทึกอยู่สม่ำเสมอ เราจะทราบความเคลื่อนไหวในการใช้เงินเป็นอย่างดี และสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้ดีเพราะทราบว่า เราใช้เงินสิ้นเปลืองไปกับสิ่งไม่จำเป็นหรือไม่ หากมีจะได้มีมาตรการจัดการอย่างทันท่วงทีนั้นเอง

อยากรวย

5. คุณใช้จ่ายเงินเกินตัวหรือไม่ ?

หากจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายแล้วพบว่า “หนี้เยอะกว่ารายได้ นั่นหมายความว่าเรากำลังใช้จ่ายเงินเกินตัว”

นี่เป็นอีกหนึ่งสัญญาณภัยร้ายตัดหนทางความรวยของเราได้เหมือนกันนะ เพราะการใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าฟุ่มเฟือยมากจนเกินไป นั่นไม่สามารถสร้างผลกำไรยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้ คุณควรจัดสรรการใช้เงินให้ดีโดยเฉพาะหากใช้บัตรเครดิตก็ควรใช้จ่ายให้เหมาะสมและควรมีเงินสดเก็บสำรองจ่ายอยู่เสมอ

อยากรวย

6. คุณวาดฝันอนาคตไว้อย่างไร ?

สำหรับเช็คลิสต์ข้อสุดท้าย คุณคงต้องถามใจตัวเองดูว่า 5-10 ปีต่อจากนี้ คุณมีเป้าหมายต้องการสิ่งใด ยกตัวอย่าง บ้านสักหลัง คอนโดวิวสวย ที่ดินแปลงงาม เดินทางท่องเที่ยวรอบโลก หรือจะเลือกเกษียณอายุสุขสันต์

ด้วยแรงบันดาลใจข้างต้น จะยิ่งทำให้การวางแผนการเงินของคุณสนุกและท้าทายมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับการเล่นเกมสะสมเลเวล ท้าทายชีวิตไปอีกนั่นเป็นเพราะว่าหากคุณมีเป้าหมายชัดเจนและความมุ่งมั่นอันแรงกล้า การเก็บออมก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อของชีวิตอีกต่อไป จนในที่สุดเส้นทางเศรษฐีก็จะเป็นของคุณอย่างแน่นอน

หากคุณดูแลสุขภาพการเงินได้ไม่ครบทั้ง 6 ข้อข้างต้น ก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลใด ๆ เพราะเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้ ก็ยังไม่สายล่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : Business Insider