วิเคราะห์ Foodpanda ทำไมต้องบุกจังหวัดแพร่ ??

วิเคราะห์ Foodpanda ทำไมต้องบุกจังหวัดแพร่ ??

ทำไม Foodpanda เลือกเมืองแพร่ ?

อย่างที่ทราบกันดีว่า ฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) เป็นอีกแบรนด์สัญชาติเยอรมันที่เป็นเจ้าตลาดแรก ๆ ที่บุกเบิกธุรกิจส่งอาหารในเมืองไทย หรือบริการจัดส่งอาหารแบบครบวงจร Food Delivery ที่เคยประกาศกร้าวไว้เมื่อปี 2014 ว่า

“ฟู้ดแพนด้า เอาจริงมุ่งเป็นผู้นำ ฟู้ด เดลิเวอรี่ ออนไลน์ในไทย” 

แต่ช่วงนี้เรามักจะเห็นผู้เล่นใหม่เข้ามาชิงตลาด เช่น Grab Food, Line Man, Get Food และอื่น ๆ ที่ลุกขึ้นมาทำตลาดเจาะใจชาวกรุงกันให้ลึ่ม !? ก็ยิ่งทำให้กระแสของแพนด้าสีชมพูที่เพิ่งรีแบรนด์แรงแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด

รุกหนักป่าล้อมเมือง

ล่าสุด ผู้เขียนเองได้เห็นข่าวคราวว่า ฟู้ดแพนด้าเริ่มบุกต่างจังหวัดนอกเหนือจากพื้นที่กทม. ได้แก่

  • เชียงใหม่
  • พัทยา
  • ภูเก็ต
  • ประจวบคีรีขันธ์ หัวหิน
  • ขอนแก่น
  • โคราช นครราชสีมา
  • อุดรธานี
  • อุบลราชธานี
  • ลำพูน
  • หาดใหญ่
  • เชียงราย
  • สุราษฎร์ธานี
  • พิษณุโลก
  • ลำปาง
  • อุตรดิตถ์
  • นครสวรรค์
  • นครศรีธรรมราช
  • แพร่

โดยเฉพาะจังหวัดแพร่ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของผู้เขียนเองค่ะ พร้อมกับเปิดรับสมัครพนักงานขนส่งอาหารเพียบ ! และได้รับกระแสตอบรับที่ดีเชียวล่ะ ยิ่งทำให้น่าสนใจว่า นี่อาจเป็นอีกหนึ่ง “กลยุทธ์ยึดหัวหาดธุรกิจ Food Delivery ในต่างจังหวัด!! เพื่อสู้ศึกยึดธุรกิจ Food Delivery เป็นแน่แท้”

ด้วยสโลแกน “หิวเมื่อไหร่ให้ฟู้ดแพนด้าดูแล” และเปิดให้บริการวันนี้เป็นวันแรก (31 ต.ค. 2562) โดยเริ่มต้นแคมเปญลด 50 บาททันทีให้ชาวแพร่ที่สั่งอาหารกับ Foodpanda ครั้งแรก

Foodpanda แพร่

ยิ่งทำให้น่าวิเคราะห์เกมธุรกิจว่า ทำไม ?

ฟู้ดแพนด้าถึงเลือกจังหวัดแพร่ที่มีพื้นที่ไม่มากนัก ภายใต้ 6,539 ตร.กม. และเป็นจังหวัดที่ไม่ได้มีประชากรมากมาย ความหนาแน่นของผู้คนอยู่ที่ประมาณ 68 คนต่อตร.กม. เป็นอันดับที่ 67 ของเมืองไทย และที่สำคัญเมืองแพร่เป็นอีกตลาดปราบเซียนที่ชอบทำกับข้าวกินเองส่วนใหญ่ !!

จากข้อมูล สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ ระบุรายได้เฉลี่ยครัวเรือนของชาวแพร่ในปี 2561 ไว้ว่า

  • คนแพร่มีรายได้เฉลี่ยคนละ 76,470 บาท/ปี คิดเฉลี่ยคนละ 6,372.5 บาท/เดือน
  • ขณะที่คนแพร่ต้องใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 46,714 บาท/ปี (เฉลี่ยคนละ 3,892 บาท)

หมายความว่า “คนแพร่จะเหลือเงินใช้จ่ายอื่น ๆ ประมาณ 2,480 บาท” นั่นหมายความว่า กำลังซื้อที่ไม่สูงมากนัก อาจจะเป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายของ Foodpanda ที่ต้องขบคิดให้ดี

ช่างเป็นความท้าทายที่น่าจับตามองจริง ๆ ว่า Foodpanda แพร่จะสามารถทำกำไร ช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจ (Market Share) และผลักดันให้ Foodpanda เป็น Food Delivery ที่โดนใจชาวแพร่ได้หรือไม่ ? และนับต่อจากนี้จังหวัดแพร่จะกลายเป็นอีกจิ๊กซอว์ที่เป็นแต้มต่อให้ธุรกิจ Foodpanda ได้ไหม ?

ยังเป็นคำถามที่ต้องรอคำตอบกันต่อไป

Food panda มาล้าววว?

โพสต์โดย บาร์นมแพร่ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2019

 

แต่ที่แน่ ๆ มุมของคนแพร่จะได้ลองใช้บริการใหม่ ๆ ไม่ต้องออกจากบ้านให้เหนื่อย ไม่ต้องหาที่จอดรถให้วุ่นวาย เพราะมี Foodpanda เป็นผู้ช่วยส่งสินค้าถึงบ้านหรือที่หมาย

ขณะเดียวกันมุมธุรกิจก็น่าจะกระเตื้องขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องจากจังหวัดแพร่มีคาเฟ่ร้านอาหารให้เลือกสรร พร้อมกับสร้างรายได้ให้กับไรเดอร์ขับขี่ฟู้ดแพนด้าร่วมด้วย

และต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ? มีเพียงแค่เวลาเท่านั้นที่จะบอกทุกอย่างว่า ฟู้ดแพนด้าจะมาวิน ! คว้าใจชาวต่างจังหวัดและทำได้ตามแผนที่วาดฝันไว้ หรือจะเป็นอย่างไร น่าติดตามค่ะ … To be continuous.

ปล. หากมีอะไรอัปเดท Butter Cutter นักเขียนจะรีบมาเล่าให้ฟังทันทีเลยนะคะ 🙂


FYI : รู้หรือไม่ ?

ร้านค้าที่สมัครเป็นพาร์ทเนอร์กับ Foodpanda ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้า แต่จะต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นรายเดือนให้กับ Foodpanda คิดเป็น 30% ของยอดรวมรายได้ทั้งหมด (ที่ได้รับ) และร้านค้าไม่สามารถบวกราคาเพิ่มจากหน้าร้านเพื่อทำกำไรได้ นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการอาจจะต้องรับผิดชอบในส่วนต่างนี้ และจะได้รับแท็บเล็ตของ Foodpanda มาเพื่อใช้งานรับออร์เดอร์ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณมอส เจ้าของร้านบาร์นมแพร่ หน้าโรงเรียนพิริยาลัยจังหวัดแพร่